Posted on

สว่านเกิดขึ้นได้อย่างไร ? (แบบละเอียดยิบ)

     ย้อนกลับไปเมื่อ 35,000 ปีก่อน คริสตกาล ชาวโฮโมเซเปียนส์ มีการค้นพบการเจาะจากเครื่องมือที่สร้างด้วยหินรูปทรงปลายแหลมที่สามารถหมุนได้ โดยใช้มือหมุนไปกลับเพื่อเจาะรูทะลุ ต่อมาได้ทำการเปลี่ยนวัสดุต่างๆ ในการใช้งาน เช่น กระดูกงาช้าง เขากวาง

     ในยุคของชาวฮารัปปาและชาวอียิปต์โบราณ (ช่วง 3,300 ปีก่อนคริสตกาล) ได้กำเนิดสว่านคันชัก (Bow drill) ใช้กลไกทำให้ดอกสว่านเคลื่อนที่แบบหมุนโดยสายของเครื่องมือ ทำให้การเจาะวัสดุมีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อทำหีบใส่มัมมี่ ได้รับการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือในการจุดไฟ และยังเป็นหนึ่งในข้อสันนิษฐานของการเกิดรูที่พบบนหินโรสแรนิตอีกด้วย เนื่องจากมีภาพวาดโบราณของชาวอียิปต์ที่แสดงการใช้เครื่องมือคันธนูในงานเจาะ

     มาถึงยุคโรมัน สว่านได้ถูกพัฒนาขึ้นมามีชื่อว่า Pump drill เป็นสว่านที่หมุนในแนวตั้ง โดยความแม่นยำของสว่านถูกพัฒนาขึ้นจากตัวมูเล่ที่มีศูนย์ถ่วงกดลงมา

     ในราวศตวรรษที่ 13 มีการพัฒนารูปแบบของดอกสว่าน ให้มีลักษณะปลายกลวง เพื่อเจาะวัสดุเฉพาะส่วนนอกของมัน ทำให้เหลือส่วนที่เป็นวัสดุด้านในออกมาด้วย นี่คือต้นกำเนิดของดอกสว่าน HOLE-SAW

     ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อมีการค้นพบวิธีประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้า 

     เมื่อปี ค.ศ. 1889 หลังจากที่ เอดิสัน ประดิษฐ์ หลอดได้ไม่กี่ปี  – สว่านไฟฟ้าได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น

อาร์เทอร์ เจมส์ อาร์นอต วิศวกรไฟฟ้าชาวสกอตแลนด์ได้จดสิทธิบัตรสว่านไฟฟ้าเครื่องแรกของโลก ร่วมกับวิลเลียม แบลนช์ เบรนด์  หลังจากที่อาร์เธอร์ อาร์นอต ได้ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย จากนั้นได้สร้างโรงไฟฟ้าสเปนเซอร์สตรีท และเป็นผู้วางระบบไฟส่องสว่างที่ถนนสเปนเซอร์ด้วย

     ค.ศ. 1895 – วิลเฮล์ม เอมิล ไฟน์ วิศวกรไฟฟ้าและนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันได้ออกแบบสว่านไฟฟ้าแบบพกพาเครื่องแรกของโลก หลังจากที่ร่วมมือกับน้องชายของเขา คาร์ล ไฟน์ เปิดบริษัท C&E Fein เพื่อจำหน่ายเครื่องมือช่างมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1867 และยังดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบันภายใต้แบรนด์ไฟน์ (Fein)

     ค.ศ. 1917 – แบล็คแอนด์เดคเกอร์ (Black & Decker) ได้พลิกโฉมวงการพาวเวอร์ทูลส์ด้วยการจดสิทธิบัตรสว่านไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (modern drill) ลักษณะไกเป็นทริกเกอร์ควบคุมการทำงานของสว่าน(สวิตช์กดเปิดและปิดในปุ่มเดียว) ติดอยู่กับด้ามจับที่เป็นแบบปืนพก จนกลายเป็นดีไซน์มาตรฐานของสว่านไฟฟ้าในปัจจุบัน

     ค.ศ. 1932 – บอสช์ (Bosch) ได้เปิดตัวสว่านกระแทกรุ่นแรกของโลก ที่งานแสดงสินค้าไลป์ซิกแฟร์ (Leipzig Trade Fair 1932) ต่อมาก็รู้จักกันในชื่อ บอสช์แฮมเมอร์ (Bosch Hammer) นอกจากจะเป็นสว่านเจาะแล้ว ยังเพิ่มฟังก์ชันกระแทกเข้าไป ทำให้เจาะปูน เจาะคอนกรีตได้ดีมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ไซต์งานก่อสร้างจะขาดไปไม่ได้

     หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาแบตเตอรี่และเทคโนโลยีไร้สาย

     ค.ศ. 1961 – แบล็คแอนด์เดคเกอร์ (Black & Decker) ได้สร้างนวัตกรรมใหม่อีกครั้ง ด้วยการผลิต สว่านไฟฟ้าไร้สาย พัฒนาร่วมกับ NASA เพื่อให้ตัวสว่านเบาขึ้น  และใช้ในอวกาศและดวงจันทร์ได้ นับเป็นก้าวแรกของเครื่องมือไฟฟ้าที่ไม่ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าแบบ AC โดยใช้แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมี่ยม (NiCd) เป็นแหล่งพลังงาน แต่กลับมีผู้ใช้จำกัดมาก ๆ และไม่ได้วางจำหน่ายในตลาด

     ค.ศ. 1969 – Bosch ได้ผลิตสว่านไร้สายและเครื่องตัดพุ่มไม้ไร้สายเป็นครั้งแรก โดยที่มีแบตเตอรี่แยกออกมาจากตัวเครื่อง ผู้ใช้ต้องสะพายไว้ที่ไหล่ในขณะใช้งาน แบตเตอรี่เป็นแบบเจลตะกั่ว ลักษณะคล้ายแบตเตอรี่่รถยนต์ในปัจจุบัน โดยน้ำหนักของมันนั้นมากถึง 5.5 กิโลกรัม ใช้งานได้นาน 1 ชั่วโมง แต่เวลาที่ต้องใช้ในการชาร์จนานกว่ามากประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมง เลยทีเดียว ถึงแม้จะเป็นเครื่องมือไร้สาย แต่ก็ยังมีสายเชื่อมกับแบตเตอรี่ที่สะพายไว้ ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวเท่าไหร่นัก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานของเครื่องมือไร้สาย Bosch

     ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี Bosch ก็ได้เปิดตัว เครื่องตัดหญ้าไร้สาย และนับว่าเป็นเครื่องมือไร้สายเครื่องแรก เพราะมีแบตเตอรี่รวมกับตัวเครื่องมือ ไม่ได้สะพายแยกไว้ที่ไหล่แล้ว ใชัได้นาน 45 นาที ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เมื่อเทียบกับแบบเก่า สามารถให้พลังงานได้มากขึ้น ใช้งานได้นานขึ้น และชาร์จได้สูงสุดถึง 100 ครั้ง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก ตั้งแต่นั้นมาก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีไร้สายอย่างต่อเนื่อง จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องมือไร้สายของเยอรมณีในปี 1974

     ค.ศ. 1978 – มากีต้า (Makita) เป็นบริษัทแรกที่นำสว่านไร้สายลงสู่ตลาด โดยรุ่นที่จัดจำหน่ายคือ Makita 6010D ใช้แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมี่ยม (NiCd) ได้รับความนิยมจากผู้คนในวงการก่อสร้างและประชาชนทั่วไป

     ค.ศ. 1984 – Bosch ได้เปิดตัวสว่านกระแทกไร้สายตัวแรกของโลก GBH 24V เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของช่างหลายๆ คน เช่น ช่างไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งจ่ายไฟแล้ว เมื่อต้องทำงานบนที่สูงๆ ถึงแม้จะใช้พลังงานแบตเตอรี่ แต่ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสว่านกระแทกที่มีสายเลย โดยพื้นฐานของแบตเตอรี่นั้นยังคงประกอบด้วยเซลล์นิเกิล-แคดเมียม (Ni-Cd) โดยสามารถใช้เจาะรูได้ 60 รู ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

     ค.ศ. 2005 – หลังจาก Akira Yoshino คิดค้น lithium-ion battery ได้สำเร็จ MAKITA ก็ไม่รอช้าที่จะนำ lithium-ion มาใช้กับเครื่องมือไฟฟ้าของตน จึงถือกำเนิด Makita TD130D ขึ้นซึ่งเชื่อว่าเป็นสินค้าชิ้นแรกที่ ใช้แบตเตอรี่แบบ lithium-ion

     ค.ศ. 2016 – Milwaukee พัฒนาระบบเครื่องมือให้สามารถเชื่อมต่อกับ สัญญาณ บลูทูธได้และตั้งชื่อระบบว่า One-Key ทำให้ผู้ใช้สามารถติดต่อ สื่อสารและปรับแต่งค่าต่างๆของเครื่องมือผ่านทางโทรศัพท์ได้เป็นเจ้าแรก